เทคนิคปลูก ‘ฟักทอง’ ง่ายๆ ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ
เปิดเทคนิคปลูก ‘ฟักทอง’ ง่ายๆ ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ณ สวนคุณลี
เกษตรกรที่เสร็จสิ้นการทำนาปีแล้ว นิยมปลูกผักหลังการทำนาเพื่อเป็นรายได้เสริม “ฟักทอง” พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูกช่วงหลังการทำนา เกษตรกรจะประสบความสำเร็จในการผลิตฟักทองให้ได้คุณภาพ จึงต้องศึกษาถึงลักษณะนิสัยของพืชชนิดนี้ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม การเตรียมดินก่อนปลูก การให้น้ำ-ปุ๋ย ตลอดจนปัญหาของโรค-แมลงศัตรู เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันกำจัด และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
สำหรับบ้านเราพบว่า ฟักทอง ที่ปลูกเพื่อการบริโภคนั้น ลักษณะของพันธุ์จะมีเปลือกสีเขียวคล้ำร่องผลเป็นพูสม่ำเสมอ หรือเปลือกขรุขระแบบหนังคางคก ผลที่แก่จัดขึ้นนวลสีขาวตั้งแต่ขั้วไปทั้งผลและนิยมปลูกพันธุ์ผลใหญ่มีน้ำหนักมากกว่า 4-5 กิโลกรัม หรือผลเล็กมีน้ำหนักผลระหว่าง 2-3 กิโลกรัม ในปัจจุบันพันธุ์ฟักทองทางการค้าที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกจะใช้พันธุ์ลูกผสม ซึ่งมีให้เลือกตามที่ตลาดมีความต้องการ ก็จะเลือกใช้สายพันธุ์ที่ตลาดจะเป็นตัวกำหนดในแต่ละพื้นที่
- การเตรียมพื้นที่ปลูกฟักทอง
ฟักทอง เป็นพืชผักที่มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้น เช่นเดียวกับแตงโม ฟักทองเป็นไม้เถาอ่อน มีขนสากมือ มีหนวด สำหรับเกี่ยวพันทอดไปตามพื้นดิน จึงต้องการเนื้อที่ปลูกมากกว่าพืชผักอื่นๆ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีอายุปีเดียว (ฤดูเดียว) เมื่อให้ผลแล้วก็ตายไป ฟักทองจัดเป็นพืชที่มีระบบรากลึก การเตรียมแปลงปลูกจึงต้องไถดินให้ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร
ตากดินไว้ 5-7 วัน เพื่อเป็นการไล่แมลงศัตรูในดินและฆ่าเชื้อโรคบางชนิด ในการเตรียมแปลงปลูกควรมีการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ให้มีค่า pH 6.0-6.8 หากดินมีสภาพเป็นกรดควรปรับสภาพโดยใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ใส่ระหว่างการเตรียมแปลงปลูก การใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ในการปรับปรุงสภาพดินจะช่วยลดการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ในระดับหนึ่ง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว โดยพิจารณาการใส่ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งนี้หากเกษตรกรนำดินส่งวิเคราะห์ (ที่กรมพัฒนาที่ดินในแต่ละจังหวัด) เกษตรกรก็จะทราบว่าที่ดินของตนเองมีปริมาณธาตุอาหารในดินสามารถที่จะทราบถึงปริมาณธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน และควรจะเพิ่มเติมอะไร เท่าไร รวมถึงการเลือกใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้ฟักทองเจริญเติบโตดี
- หลักการเลือกรูปแบบการปลูกฟักทอง
การเลือกเตรียมแปลงปลูกฟักทอง สามารถเลือกปลูกได้หลายรูปแบบ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกเป็นส่วนสำคัญมาก ยกตัวอย่าง เช่น
วิธีที่หนึ่ง…หากมีพื้นที่ปลูกเพียงเล็กน้อย สามารถปลูกระยะ 1.5×1.5 เมตร วิธีนี้เมื่อฟักทองโตขึ้นจะทำให้ลำบากต่อการจัดการ เนื่องจากเถาจะกระจายเต็มพื้นที่ แต่มีข้อดีคือ จะได้ผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น
วิธีที่สอง…การปลูกแถวเดี่ยว ทำแปลงแถวเดี่ยว ความกว้างของแปลง 1.8-2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.5 เมตร เมื่อปลูกฟักทองสามารถจัดเถาฟักทองให้เลื้อยไปในแนวแปลงปลูก ทำให้ง่ายต่อการจัดการมากกว่าวิธีแรก
วิธีที่สาม…การปลูกแบบแถวคู่ ยกร่องแปลงเป็นสองด้าน ระยะ 3.5-5 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร เช่นเดียวกับวิธีที่หนึ่งและสอง วิธีนี้สามารถจัดเถาฟักทองให้เลื้อยจรดกันสองด้านพอดี และมีร่องทางเดินทำให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น
- วิธีการปลูกโดยหยอดเมล็ดโดยตรงหรือเพาะกล้าพิจารณาจากต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์
การเลือกเมล็ดพันธุ์ฟักทองที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 2 แบบ คือเมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อได้เอง ซึ่ง “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-886-7398 เลือกปลูกฟักทองพันธุ์แบบผสมเปิด ที่มีชื่อเรียกว่า “ฟักทองสายพันธุ์ดี” ซึ่งสามารถคัดเลือกพันธุ์เก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้ตลอด ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีกเลย และมีลักษณะพันธุ์ที่ดี คือเนื้อหนา เนื้อหวานเหนียว สีเนื้อเหลืองสวย ผิวแบบหนังคางคก ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิดหาได้ยากมาก เนื่องจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรซื้อมาปลูกจะเลือกผลิตเมล็ดพันธุ์แบบลูกผสมที่เก็บเมล็ดไปปลูกต่อไม่ได้ เพราะจะแปรปรวนในเรื่องของลักษณะผลและผลผลิต แต่เมล็ดพันธุ์แบบลูกผสมมีลักษณะเด่นในการให้ผลผลิตสูง ขนาดของต้น ผล และการเจริญเติบโตดี แต่มีข้อเสียที่ไม่สามารถนำเมล็ดไปปลูกต่อได้ และเกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายกับเมล็ดพันธุ์ฟักทองทุกครั้งที่ปลูก ดังนั้น การพิจารณาถึงวิธีการปลูกเพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้โดยมีวิธีการเลือกปลูกได้ 2 แบบ ได้แก่
การปลูกแบบหยอดเมล็ด…ก่อนปลูกขุดหลุมปลูก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว หยอดเมล็ด 3-5 เมล็ด กลบด้วยดินผสมละเอียด หรือขี้เถ้าแกลบดำก็ได้ ลึก 2.5-5 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางข้าว รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวันเช้าและเย็น ประมาณ 3-5 วัน ต้นกล้าจะงอกพ้นจากดินให้เกษตรกรสังเกตและช่วยแหวกฟางข้าวที่คลุมแปลงที่หลุมปลูกออก ช่วยไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการงอกของต้นกล้าฟักทอง เมื่อต้นกล้าฟักทองมีใบจริง 2-3 ใบ ควรถอนเอาต้นที่อ่อนแอดูแล้วไม่แข็งแรงทิ้ง เหลือต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียง 1 ต้น ต่อหลุม
การปลูกโดยการเพาะกล้า…นำเมล็ดฟักทองล้างน้ำสัก 1-2 รอบ จากนั้นแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้สัก 30 นาที จากนั้นนำเมล็ดไปห่อไว้ในผ้าขาวบาง นำเมล็ดไปบ่มไว้ในกล่องพลาสติกใส หรือกระติกน้ำเก่า 3-5 วัน เมล็ดจะแตกรากออกมาเล็กน้อย จึงค่อยๆ ย้ายเมล็ดนำไปเพาะในถาดเพาะกล้าที่ใส่วัสดุเพาะกล้า (เช่น มีเดีย) รดน้ำ 10-12 วัน หรือฟักทองมีใบจริง 2-3 ใบ จึงย้ายปลูกได้
ก่อนการหยอดเมล็ดหรือนำกล้าลงปลูก ควรหยอดปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 16-16-16, 19-19-19 อัตรา 5 กรัม รองก้นหลุม พร้อมกับการหยอดสารป้องกันแมลง จากการทดลองของสวนคุณลี
โดยใช้ “สตาร์เกิล จี” หยอดก้นหลุม อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม พบว่า ระยะต้นกล้าของฟักทอง คือช่วงที่ต้นฟักทองทอดยอดยาว ระหว่าง 20-30 เซนติเมตร ฟักทองไม่ถูกทำลายจากแมลงปากดูดและสามารถกำจัดด้วงเต่าแตงที่มาทำลายใบได้ดีมาก นอกจากนี้ ยังได้ให้ปุ๋ยต้นฟักทองในระยะกล้าที่มีใบจริง 3-4 ใบ โดยการนำปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 800 กรัม+แคลเซียมไนเตรต อัตรา 100 กรัม+ไฮมิค อัตรา 300 ซีซี+สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น สารเมทาแลกซิล อัตรา 300 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร วิธีใช้จะใช้การราดโคนต้นฟักทอง อัตรา 300 ซีซี ต่อต้น จะช่วยให้ต้นฟักทองในระยะกล้าแข็งแรง ต้นกล้าที่ใบเหลืองไม่สมบูรณ์ฟื้นตัวได้ดีขึ้น
โดยใช้ “สตาร์เกิล จี” หยอดก้นหลุม อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม พบว่า ระยะต้นกล้าของฟักทอง คือช่วงที่ต้นฟักทองทอดยอดยาว ระหว่าง 20-30 เซนติเมตร ฟักทองไม่ถูกทำลายจากแมลงปากดูดและสามารถกำจัดด้วงเต่าแตงที่มาทำลายใบได้ดีมาก นอกจากนี้ ยังได้ให้ปุ๋ยต้นฟักทองในระยะกล้าที่มีใบจริง 3-4 ใบ โดยการนำปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 800 กรัม+แคลเซียมไนเตรต อัตรา 100 กรัม+ไฮมิค อัตรา 300 ซีซี+สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น สารเมทาแลกซิล อัตรา 300 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร วิธีใช้จะใช้การราดโคนต้นฟักทอง อัตรา 300 ซีซี ต่อต้น จะช่วยให้ต้นฟักทองในระยะกล้าแข็งแรง ต้นกล้าที่ใบเหลืองไม่สมบูรณ์ฟื้นตัวได้ดีขึ้น
- ให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายปุ๋ยได้
หัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตของฟักทองคือ การให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการให้น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เนื่องจากการให้ปุ๋ยที่มากเกินความต้องการของฟักทอง จะทำให้ปุ๋ยที่นำไปใช้เพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือจะระเหยไปกับอากาศ และไหลไปไกลกว่าระดับรากของฟักทอง ดังนั้น การให้ปุ๋ยเหมาะสมกับช่วงของการเจริญเติบโตจะช่วยให้ฟักทองเจริญเติบโตได้ดีขึ้น การให้ปุ๋ยควรหยอดปุ๋ยสูตรเสมอรองก้นก่อนปลูก เช่น 19-19-19 อัตรา 5 กรัม ต่อหลุม เพื่อให้เพิ่มปริมาณธาตุอาหารแก่ฟักทองในระยะกล้า เมื่ออายุ 10-14 วัน ใส่ปุ๋ยตัวหน้าสูง เช่น 46-0-0, 15-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อฟักทองอายุได้ 20-25 และ 30 วัน ควรให้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่
- เทคนิคการช่วยผสมเกสร
ฟักทอง จะมีดอกสีเหลืองทั้งตัวผู้และตัวเมียจะแยกกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเพศเมียจะเป็นดอกเดี่ยวที่เกิดบริเวณมุมใบ มีกลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกมีสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2-5 เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนผลฟักทองขนาดเล็ก ส่วนของยอดเกสรเพศเมียมี 2-5 แฉก การเจริญเติบโตในระยะแรกการแสดงดอกของฟักทองจะแสดงดอกเพศผู้ ส่วนดอกเพศเมียจะมีตั้งแต่ ข้อที่ 12-15 ดอกที่เกิดปลายเถาและเถาแขนงมักเป็นดอกเพศเมีย ดังนั้น จึงต้องการช่วยผสมเกสรโดยวิธีธรรมชาติ เช่น ลมพัดหรือแมลงช่วยผสมเกสร หรือให้ผู้ปลูกช่วยผสมเกสรเพื่อการติดผลที่ดี เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไปเคาะละอองเกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดผลก็จะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป ดอกฟักทองจะบานแค่ 1 วัน ในช่วงเช้ามืดพอแดดแรงช่วง 09.00 น. เป็นต้นไปก็จะเริ่มหุบ หากจะผสมเกสรควรเริ่มผสมในช่วงเช้าๆ เพราะเมื่อบ่ายดอกฟักทองจะเริ่มเหี่ยวแล้วจะเฉาตายในวันรุ่งขึ้น ดอกก็จะเฉาตายไป สำหรับเกษตรกรที่ปลูกฟักทองในเชิงพาณิชย์, ปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมหรือปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน มีความจำเป็นจะต้องผสมเกสรและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดอกของฟักทอง ดอกเพศเมียและเพศผู้จะบานในตอนเช้า จะบานในช่วงเวลา 03.30-06.00 น. อับเรณูจะแตกระหว่าง เวลา 21.00-03.00 น. ละอองเรณูจะมีชีวิตอยู่ได้ 16 ชั่วโมง หลังอับเรณูแตกยอดเกสรเพศเมียพร้อมรับการผสมเกสรก่อนดอกบาน 2 ชั่วโมง และหลังดอกบาน 10 ชั่วโมง ดังนั้น ช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมในการผสมเกสรคือ ตั้งแต่ เวลา 06.00-09.00 น.
- การให้น้ำฟักทอง
ฟักทอง เป็นพืชที่มีระบบรากลึก การให้น้ำจึงต้องให้น้ำซึมลงใต้ดิน ประมาณ 25-40 เซนติเมตร แต่ไม่ควรให้แปลงแฉะ จะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ การเลือกรูปแบบการให้น้ำแก่ฟักทอง ควรพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ หากพื้นที่ปลูกฟักทองอยู่ใกล้ระบบชลประทานหรือมีคลองส่งน้ำที่ดี สามารถเลือกการให้น้ำแบบปล่อยเข้าร่องแปลง พื้นที่ที่มีน้ำเป็นคลองหรือสระน้ำที่มีน้ำจำกัดสามารถให้น้ำแบบสายยางรด หรือให้น้ำแบบน้ำหยด (เป็นวิธีที่มีการทำแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลง) แต่การให้น้ำแบบพ่นฝอยเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากการให้น้ำแบบพ่นฝอย ทำให้ฟักทองเกิดโรคทางใบได้เร็วมากขึ้น
- โรคและแมลงศัตรูที่ทำความเสียหายแก่ฟักทอง
ปัญหาของการเกิดโรคในฟักทองเป็นสิ่งที่ไม่สร้างความลำบากใจให้เกษตรกรมากนัก หากมีการจัดการระบบการปลูกที่ดี โรคต่างๆ ก็ไม่สามารถทำความเสียหายได้ เช่น การเตรียมดิน การปลูกที่ดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรครากเน่า-โคนเน่าได้ โดยการใช้โดโลไมท์โรยในแปลงระหว่างการเตรียมแปลง ใช้ปุ๋ยคอก-ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุยเพื่อให้รากทำงานได้ดีขึ้น การไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำที่กันบ่อยๆ หรือปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับสภาพดินสลับการปลูกฟักทองหรือพืชตระกูลแตง การเกิดโรคทางใบ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง ที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือการให้น้ำแบบพ่นฝอย วิธีแก้ไขโดยการตัดต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย ไม่ให้น้ำแบบพ่นฝอย ใช้สารป้องกันโรคพืช เช่น แอนทราโคล ปริมาณ 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร, โรคราแป้ง
มักระบาดรุนแรง เมื่อสภาพอากาศเย็น ใบพืชแห้งในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ปัญหาแมลงศัตรูฟักทองนั้นมีไม่มากนัก เพราะใบและก้านที่มีขนช่วยในการป้องกันภัยจากแมลงได้ดี
มักระบาดรุนแรง เมื่อสภาพอากาศเย็น ใบพืชแห้งในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ปัญหาแมลงศัตรูฟักทองนั้นมีไม่มากนัก เพราะใบและก้านที่มีขนช่วยในการป้องกันภัยจากแมลงได้ดี
แมลงศัตรูฟักทอง ได้แก่ ด้วงเต่าแตง แมลงปากดูด และแมลงหวี่ขาว หากไม่มีการระบาดรุนแรงใช้สารเคมีที่สามารถควบคุมแมลงได้หลายชนิด เช่น เซฟวิน 85 ปริมาณ 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรใช้อัตราสูงกว่านี้ อาจจะทำให้ใบไหม้) ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ส่วนเพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กมาก ระบาดในฤดูแล้ง ตัวอ่อนจะมีสีแสด ตัวแก่จะเป็นสีดำ ตัวเล็กขนาดเท่าปลายเข็ม มันจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนและใต้ใบอ่อน ทำให้ยอดหดสั้น ปล้องถี่ยอดชูตั้งขึ้น หรือเรียกว่า “โรคยอดตั้ง” ฉีดป้องกันโดยใช้ยาโกลไฟท์ หรือแบนโนมิล ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน โดยควรงดการฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน
- วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทอง
เก็บเกี่ยวเมื่อผลขึ้นนวลเต็มผลตั้งแต่ขั้วไปจนตลอดก้นผล แสดงว่าแก่จัด ฟักทองที่เนื้อเหนียว มัน รสชาติหวานจะต้องแก่จัดถ้าเก็บฝักทองไม่แก่เมื่อเอาไปทำอาหารเนื้อจะเละ การตัดควรเหลือขั้วติดไว้สักพอประมาณหรือไว้พอจับสะดวกโดยอย่าให้ขั้วหัก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาจะถูกโดยทันที เพื่อช่วยให้การเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถเก็บผลไว้รอขายหรือบริโภคไว้นานๆ โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็น หรือสังเกตว่าเถาแห้ง หรือนับอายุหลังจากผสมติดแล้ว 35-40 วัน หากฟักทองเกิดบาดแผลจะทำให้โรคเข้าทำลาย ผลผลิตเสียหายหรือเน่าได้ง่ายมาก เกษตรกรต้องเก็บผลผลิตด้วยความระมัดระวังไม่เกิดการบอบช้ำจะทำให้ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานหลายเดือน
ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
เผยแพร่ |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น